ยินดีต้อนรับวงศาคณาญาติและผู้ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่าน

8 พฤษภาคม 2553

ทำเนียบชาติตระกูล "ชูแช่ม"

โปรดติดตามข้อมูลรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ของวงศาคณาญาติในเวบบอร์ด "พูดจาภาษาพี่น้อง" หมวดหัวข้อ ทำเนียบชาติตระกูล "ชูแช่ม" เร็วๆ นี้...

3 พฤษภาคม 2553

เรื่อง ขำ ขำ ... (ไม่ออก)

"ญาติตามลำดับ"

เนิ่นนานมาแล้วหลายปีมากเมื่อตอนที่ผมอายุได้ 23 ปี
ผมแต่งงานกับแม่หม้ายคนหนึ่งซึ่งสวยเท่าที่แม่หม้ายจะพึงสวยได้
แม่หม้ายคนนี้มีลูกที่โตเป็นสาวแล้วคนหนึ่ง ผมของเธอสีแดง
พ่อของผมตกหลุมรักเธอ ในไม่ช้า ทั้งคู่ก็แต่งงานกัน
นั่นทำให้พ่อของผมกลายมาเป็นลูกเขยของผม
และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในชีวิตของผม

ลูกสาวของผมคือแม่ของผม เพราะเธอคือภรรยาของพ่อผม

เรื่องมันยิ่งซับซ้อนยิ่ง ขึ้นไปอีก
ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ผมรู้สึกชื่นบานก็ตาม
เพราะในไม่ช้า ผมก็มากลายเป็นพ่อของทารกน้อยชายแสนซุกซน
พ่อหนูน้อยของผมก็เลยกลายมาเป็นน้องชายตามกฎหมายของพ่อ

แม้ว่าผมจะรู้สึกเศร้ามากน้อยแค่ไหน
เขาก็ต้องกลายมาเป็นอาของผม ...ถ้าเขาเป็นอาของผม
นั่นก็ทำให้เขาเป็นน้องชายของลูกสาวของแม่หม้าย
ซึ้งแน่นอน..เธอคือ..แม่เลี้ยงของผม

เรื่องยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้
เมื่อภรรยาของพ่อคลอดลูกชายออกมา
เขาก็เลยกลายมาเป็นหลานของผม เพราะเขาคือลูกของลูกสาวผม
ตอนนี้ภรรยาของผมจึงเป็น..แม่ของแม่
และมันทำให้ผมรู้สึกแย่ เพราะว่าแม้เธอจะเป็นภรรยาของผม
เธอก็เป็น..ย่าของผมไปด้วยในตัว

หากภรรยาของผมเป็นย่าของผม ผมก็ต้องเป็นหลานของเธอ
และทุกครั้งที่ผมคิดถึงเรื่องนี้มันทำให้ผม..คลั่งเอาได้ง่ายๆ
ถึงตอนนี้คุณก็ได้เห็นแล้วว่า
กรณีของผมเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สุดที่คุณเคยเห็นและได้ยินมา
ในฐานะสามีของย่าของผม ผมก็เป็นปู่ของตัวเองด้วย

สันสน ๆ ........

27 เมษายน 2553

หลักการลำดับญาติของไทย


            มีหลาย ๆ คนมักจะเข้าใจว่า "โหลน" เป็นคำที่ใช้เรียกลำดับญาติซึ่งหมายถึงลูกของเหลน แต่ที่จริงแล้ว คำว่า "โหลน" ไม่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด คำ ๆ นี้มีการนำไปเป็นเนื้อร้องในบทเพลงปลุกใจเพลงหนึ่ง โดยมีคำร้องอยู่ท่อนหนึ่งว่า "...ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย..." ข้อความดังกล่าวคงทำให้เข้าใจกันได้ว่า โหลน น่าจะเป็นลูกของเหลน    
ดังนั้น จึงขอเสนอคำที่ ตัวเรา ใช้เรียกวงศาคณาญาติ เพื่อใช้ลำดับญาติที่เกิดมาก่อน-หลัง ดังนี้
                        เชียด หรือเทียด เป็นพ่อหรือแม่ของชวดหรือทวด
                        ชวด หรือทวด เป็นพ่อหรือแม่ของปู่กับย่า และเป็นพ่อหรือแม่ของตากับยาย
                        ปู่กับย่า เป็นพ่อกับแม่ของพ่อ
                        ตากับยาย เป็นพ่อกับแม่ของแม่
                        พ่อกับแม่ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา
            (ตัวเรา).....
                        ลูก ผู้มีกำเนิดจากตัวเรา
                        หลาน เป็นลูกของลูก
                        เหลน เป็นลูกของหลาน
                        ลื่อ เป็นลูกของเหลน
                        ลืบ เป็นลูกของลื่อ
                        ลืด เป็นลูกของลืบ


ขอแสดงเป็นแผนภูมิให้เห็นชัดดังนี้


           
            เมื่อเห็นแผนภูมิ แสดงลำดับญาติแล้ว ว่าง ๆ ตัวเราเองลองเรียงลำดับญาติดูซิว่า ต้นตระกูลของเราเทียดชื่ออะไร? ทวดชื่ออะไร? ตลอดจนในวงศาคณาญาติของเรามีใคร? เป็นญาติอยู่ในลำดับใดบ้าง?

            ที่มาข้อมูล : ชวนพิศ เชาวน์สกุล / ราชบัณฑิตยสถาน
            แก้ไขเพิ่มเติมโดย : ชุ่มฉ่ำ@chuc-cham.com

20 เมษายน 2553

คำบอกเล่าของพี่ใหญ่

               จะมีใครสักกี่คนในวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ที่จะให้ความสนใจ สืบเสาะ ค้นหา ติดตามความเป็นมาของชื่อสกุล “ชูแช่ม” ที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษสมัย เทียด ทวด ปู่+ย่า ในยุคก่อน สืบต่อกันมาจนถึงสมัย พ่อ+แม่ ลูก หลาน เหลน ในยุคปัจจุบัน และยังคงต้องใช้กันต่อ ๆ ไปสมัย ลื่อ ลืบ ลืด ในยุคอนาคต


               จากคำพูดของพี่ใหญ่ของเรา(ครูทองดี ชูแช่ม) ซึ่งในปัจจุบันน่าจะถือได้ว่าเป็นผู้อาวุโสสูงสุดของบุคคลในทำเนียบชาติตระกูล “ชูแช่ม” รุ่นที่ 3 ลำดับ “ลูก” เพราะปีนี้ (พ.ศ.2553) ท่านมีอายุมากกว่า 84 ปี โดยพี่ใหญ่ของเราได้รื้อฟื้นความทรงจำที่มีอยู่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษที่เป็นผู้ริเริ่มใช้นามสกุล “ชูแช่ม” โดยสังเขปให้พวกเราฟังว่า

               “ ณ หมู่บ้านท้ายน้ำ ตำบลท้ายน้ำ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นถิ่นฐานกำเนิดของปู่ทวดมีชื่อว่า “ชู” ได้อยู่กินกับย่าทวดมีชื่อว่า “แช่ม” โดยปู่ทวดชู และย่าทวดแช่ม จะใช้นามสกุลแต่เดิมว่า “เสนาขันธ์” เช่นเดียวกันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ของปู่ทวดชูในขณะนั้น ซึ่งนับได้ว่า “เสนาขันธ์” เป็นชาติตระกูลเดิมก่อนที่จะมาเป็นชาติตระกูล “ชูแช่ม” ก็ว่าได้

               ปู่ทวดชูกับย่าทวดแช่ม เสนาขันธ์ มีลูกหลายคน แต่ไม่ปรากฏเป็นที่แน่นอนว่าเป็นลูกชายและลูกหญิงทั้งสิ้นกี่คน ในส่วนของลูกชายมีปู่ทวดชื่อว่า “ผัน” รวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย การใช้ชีวิตทำมาหากินในสมัยก่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน ทั้งหมดจะอยู่ร่วมกันเป็นแบบสังคมครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียว ทำให้ในบางครั้งมีเหตุบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันบ้าง เพื่อความสบายใจ ลูก ๆ บางคนจึงได้ขออนุญาตปู่ทวดชูกับย่าทวดแช่ม แยกครอบครัวออกไปใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ต่างหาก ซึ่ง“ปู่ผัน” ก็เป็นผู้ที่ร้องขอรวมอยู่ด้วย

               ในช่วงเวลานั้น ปู่ผันมีเมียจำนวน 2 คน คือ “ย่าจู” และ “ย่ากอน” โดยมีลูกด้วยกันกับย่าจูรวม 5 คน และย่ากอนรวม 5 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน ได้พาเมียและลูกทั้งหมดย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตทำมาหากินที่บ้านบึง ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ในขณะเดียวกัน ปู่ผันได้คิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงนามสกุลเดิมจาก “เสนาขันธ์” เป็นนามสกุลใหม่ ให้กับตนเองและลูก ๆ ที่ย้ายมาด้วยกันทั้งหมด โดยนำชื่อของทวด “ชู”+“แช่ม” มารวมกันตั้งเป็นนามสกุล “ชูแช่ม” เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชาติตระกูลใหม่ที่ตั้งขึ้น นั่นคือเป็นจุดกำเนิดของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ตั้งแต่คราวนั้นเป็นต้นมา ”

                ปัจจุบัน ชาติตระกูล “ชูแช่ม” ได้แตกเทือกเถาเหล่ากอเพิ่มขึ้นจากบรรดาลูก ๆ ทั้ง 10 คน ของปู่ผันที่เกิดกับย่าจูและย่ากอน ที่ต่างคนต่างก็มีครอบครัวกัน แล้วมีลูก มีหลานมากขึ้น ๆ จนวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม”โตขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ดังที่ได้ทราบ ได้พบเห็น ได้เจอะเจอกันอยู่ในท้องถิ่นแถบภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นส่วนใหญ่

                เป็นที่น่าสังเกตว่า บางครั้งมีการพบชื่อบุคคลที่ใช้นามสกุล “ชูแช่ม” ในสื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลทั่ว ๆ ไป จะใช้ชีวิตทำมาหากิน และมีถิ่นอาศัยอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ แทบทุกภาคของประเทศไทยอีกจำนวนไม่น้อย จากการสืบค้นจากสื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่ง ตลอดจนพูดคุย สอบถามโดยตรงจากบุคคลที่ใช้นามสกุล “ชูแช่ม” เมื่อบังเอิญได้มาพบกันบ้าง รู้จักกันจากสื่อโซเชียลต่างๆบ้าง ส่วนมากจะไม่สามารถอธิบายและให้ข้อมูลในการเชื่อมโยง สืบสาวราวเรื่องถึงที่มาที่ไปของนามสกุล “ชูแช่ม” ของบุคคลที่ใช้นามสกุลเช่นเดียวกันนั้น เหมือนกับวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ที่มีจุดกำเนิดจาก “ปู่ผัน” ที่นำชื่อของทวด “ชู”+“แช่ม” มารวมกันตั้งเป็นนามสกุล “ชูแช่ม” แต่ประการใด.