ยินดีต้อนรับวงศาคณาญาติและผู้ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่าน

20 เมษายน 2553

คำบอกเล่าของพี่ใหญ่

               จะมีใครสักกี่คนในวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ที่จะให้ความสนใจ สืบเสาะ ค้นหา ติดตามความเป็นมาของชื่อสกุล “ชูแช่ม” ที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษสมัย เทียด ทวด ปู่+ย่า ในยุคก่อน สืบต่อกันมาจนถึงสมัย พ่อ+แม่ ลูก หลาน เหลน ในยุคปัจจุบัน และยังคงต้องใช้กันต่อ ๆ ไปสมัย ลื่อ ลืบ ลืด ในยุคอนาคต


               จากคำพูดของพี่ใหญ่ของเรา(ครูทองดี ชูแช่ม) ซึ่งในปัจจุบันน่าจะถือได้ว่าเป็นผู้อาวุโสสูงสุดของบุคคลในทำเนียบชาติตระกูล “ชูแช่ม” รุ่นที่ 3 ลำดับ “ลูก” เพราะปีนี้ (พ.ศ.2553) ท่านมีอายุมากกว่า 84 ปี โดยพี่ใหญ่ของเราได้รื้อฟื้นความทรงจำที่มีอยู่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษที่เป็นผู้ริเริ่มใช้นามสกุล “ชูแช่ม” โดยสังเขปให้พวกเราฟังว่า

               “ ณ หมู่บ้านท้ายน้ำ ตำบลท้ายน้ำ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นถิ่นฐานกำเนิดของปู่ทวดมีชื่อว่า “ชู” ได้อยู่กินกับย่าทวดมีชื่อว่า “แช่ม” โดยปู่ทวดชู และย่าทวดแช่ม จะใช้นามสกุลแต่เดิมว่า “เสนาขันธ์” เช่นเดียวกันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ของปู่ทวดชูในขณะนั้น ซึ่งนับได้ว่า “เสนาขันธ์” เป็นชาติตระกูลเดิมก่อนที่จะมาเป็นชาติตระกูล “ชูแช่ม” ก็ว่าได้

               ปู่ทวดชูกับย่าทวดแช่ม เสนาขันธ์ มีลูกหลายคน แต่ไม่ปรากฏเป็นที่แน่นอนว่าเป็นลูกชายและลูกหญิงทั้งสิ้นกี่คน ในส่วนของลูกชายมีปู่ทวดชื่อว่า “ผัน” รวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย การใช้ชีวิตทำมาหากินในสมัยก่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน ทั้งหมดจะอยู่ร่วมกันเป็นแบบสังคมครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียว ทำให้ในบางครั้งมีเหตุบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันบ้าง เพื่อความสบายใจ ลูก ๆ บางคนจึงได้ขออนุญาตปู่ทวดชูกับย่าทวดแช่ม แยกครอบครัวออกไปใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ต่างหาก ซึ่ง“ปู่ผัน” ก็เป็นผู้ที่ร้องขอรวมอยู่ด้วย

               ในช่วงเวลานั้น ปู่ผันมีเมียจำนวน 2 คน คือ “ย่าจู” และ “ย่ากอน” โดยมีลูกด้วยกันกับย่าจูรวม 5 คน และย่ากอนรวม 5 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน ได้พาเมียและลูกทั้งหมดย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตทำมาหากินที่บ้านบึง ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ในขณะเดียวกัน ปู่ผันได้คิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงนามสกุลเดิมจาก “เสนาขันธ์” เป็นนามสกุลใหม่ ให้กับตนเองและลูก ๆ ที่ย้ายมาด้วยกันทั้งหมด โดยนำชื่อของทวด “ชู”+“แช่ม” มารวมกันตั้งเป็นนามสกุล “ชูแช่ม” เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชาติตระกูลใหม่ที่ตั้งขึ้น นั่นคือเป็นจุดกำเนิดของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ตั้งแต่คราวนั้นเป็นต้นมา ”

                ปัจจุบัน ชาติตระกูล “ชูแช่ม” ได้แตกเทือกเถาเหล่ากอเพิ่มขึ้นจากบรรดาลูก ๆ ทั้ง 10 คน ของปู่ผันที่เกิดกับย่าจูและย่ากอน ที่ต่างคนต่างก็มีครอบครัวกัน แล้วมีลูก มีหลานมากขึ้น ๆ จนวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม”โตขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ดังที่ได้ทราบ ได้พบเห็น ได้เจอะเจอกันอยู่ในท้องถิ่นแถบภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นส่วนใหญ่

                เป็นที่น่าสังเกตว่า บางครั้งมีการพบชื่อบุคคลที่ใช้นามสกุล “ชูแช่ม” ในสื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลทั่ว ๆ ไป จะใช้ชีวิตทำมาหากิน และมีถิ่นอาศัยอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ แทบทุกภาคของประเทศไทยอีกจำนวนไม่น้อย จากการสืบค้นจากสื่อที่เป็นแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่ง ตลอดจนพูดคุย สอบถามโดยตรงจากบุคคลที่ใช้นามสกุล “ชูแช่ม” เมื่อบังเอิญได้มาพบกันบ้าง รู้จักกันจากสื่อโซเชียลต่างๆบ้าง ส่วนมากจะไม่สามารถอธิบายและให้ข้อมูลในการเชื่อมโยง สืบสาวราวเรื่องถึงที่มาที่ไปของนามสกุล “ชูแช่ม” ของบุคคลที่ใช้นามสกุลเช่นเดียวกันนั้น เหมือนกับวงศาคณาญาติของชาติตระกูล “ชูแช่ม” ที่มีจุดกำเนิดจาก “ปู่ผัน” ที่นำชื่อของทวด “ชู”+“แช่ม” มารวมกันตั้งเป็นนามสกุล “ชูแช่ม” แต่ประการใด.

5 ความคิดเห็น:

  1. อย่าลืมแวะไปดูที่ Link เวบของวงศาคณาญาติ (อยู่ด้านซ้ายมือ) นะครับ

    ตอบลบ
  2. หากมีใครจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ยินดีน้อมรับ
    โดย ให้รายละเอียดไว้ในนี้นะครับ หากต้องการพูดคุยกันทางโทรศัพท์
    สามารถโทร หาได้ตามที่แจ้งไว้ได้ตลอดเวลาเลยครับ

    ตอบลบ
  3. กุลิสรา โกลากุลพฤษภาคม 03, 2553

    เป็นอย่างนี้เอง

    ตอบลบ
  4. สวัสดีค่ะหนูชื่อฐรินดา คชรัตน์น่ะค่ะบังเอิญได้มาเจอกระทู้นี้อยากจะบอกว่าตากับยายหนูก้อนามสกุลชูแช่มค่ะ
    ชื่อตาสมจิต ชูแช่มกับยายสะอาด ชูแช่มซึ่งอยู่สมุทรสงครามค่ะ

    ตอบลบ
  5. มาตามหาเพื่อน สุรเชษฐ์ ชูแช่ม เพื่อนสมัยเรียน ป.1 โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2534

    ตอบลบ