ยินดีต้อนรับวงศาคณาญาติและผู้ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนทุกท่าน

16 มกราคม 2567

มรดกของบรรพบุุรุษ ควรรักษาสืบทอดไว้เป็นสมบัติของวงศ์ตระกูลชั่วลูกชั่วหลานที่สืบสันดาน

ลูกๆหลานๆ ที่จะรับโอนมรดกจากปู่ย่า/ตายาย/พ่อแม่ ควรพินิจพิจารณาไว้สักนิด จะได้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นคนอกตัญญูต่อบุพการี ดังเช่นเรื่องตัวอย่างต่อไปนี้.-

ผมอายุ 76 ภรรยา 67 มีลูกหลายคน ลูกชายแต่งงานมีลูกสะใภ้เพิ่มมา 1 คน

ตอนผมเกษียณออกจากงานมา ผมและภรรยาโอนบ้านที่อาศัยอยู่ให้กับลูกชายโดยยังอาศัยอยู่ด้วยกัน ส่วนทรัพย์สินต่างๆก็โอนให้ลูกคนอื่นๆจนหมด

ต่อมาลูกชายตาย บ้านที่เป็นมรดกของผมตกเป็นของลูกสะใภ้ ผมกลายเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้
อยู่มาไม่นาน ลูกสะใภ้มีสามีใหม่ ผมและภรรยาเลยต้องเป็นส่วนเกินของคนในครอบครัว

สามีใหม่ของ(อดีต)ลูกสะใภ้บ่นเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายอื่นๆภายในบ้าน จนผมและภรรยารู้สึกอึดอัดมาก

ผมเกษียณออกมา ไม่มีบำนาญ มีเงินตอบแทนได้รับมาเป็นก้อน ก็ถูกเอาออกมาใช้ไปทุกวันๆ เสมือนตักน้ำออกจากตุ่มเอามาดื่มกิน ไม่มีการเติมน้ำเข้าไปใหม่ในตุ่มเลย นับวันเงินก้อนที่มีอยู่นั้นมันก็หมดไปอยู่เรื่อยๆ

ภรรยาก็มีโรคประจำตัวเจ็บป่วยออดๆแอดๆ ไม่มีรายได้อะไรแต่อย่างใด มีแต่เงินคนแก่ที่รัฐฯเขาโอนมาให้ในแต่ละเดือนเอามาประทังชีวิตเท่านั้น

ครุ่นคิดอยากจะไปซื้อบ้านเล็กๆหลังใหม่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอยู่กับภรรยา ก็จนปัญญาที่จะหาเงินมาได้

เคยหาข้อมูลเพื่อจะเข้าไปอยู่บ้านพักคนขราของทางราชการ ก็ติดคุณสมบัติโน่นนี่นั่น จนไม่สามารถเข้าไปขอเข้าพักอาศัยได้

ผมและภรรยาปรึกษากันว่า เห็นทีจะต้องไปขออาศัยวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ใดที่หนึ่ง โดยการไปขอบวชเป็นพระ(สำหรับผม) และให้ภรรยาบวชเป็นชี พักอาศัยอยู่ในวัดหรือสถานปฏิธรรมที่เดียกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะได้อยู่ใกล้กัน ช่วยเหลือดูแลกันในยามแก่เฒ่าช่วงบั้นปลายของชีวิต

ผู้ใดมีข้อมูลของวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สามารถรับคนแก่อย่างผมกับภรรยาเข้าไปพักอาศัยบ้าง ช่วยแนะนำหนทางให้ผมและภรรยา ได้มีชีวิตอยู่ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ไปจากโลกนี้บ้าง
จะเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น